สมองไบรท์ เพิ่มพลังสมอง สมองดี บำรุงสมอง บู๊สต์สมอง

สมองไบรท์ ทำงานเป็น ไม่ป่วย

สมองไบรท์ ทำงานเป็น ไม่ป่วย

สมองไบรท์ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่อยากทำงานเก่งสามารถเผชิญหน้ากับงานหนักๆ โดยที่สมองยังแจ่มใส ความคิดโลดแล่น จิตใจปลอดโปร่งสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และดูอ่อนเยาว์

ชีวจิต ได้รวบรวมประสบการณ์การทำงานของคนดังระดับโลกและระดับประเทศ ที่อุทิศชีวิตจิตใจให้งานที่รักและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไปได้พร้อมๆ กัน สมกับคำกล่าวที่ว่า “ทำงานเป็น…ไม่ป่วย” โดยแท้จริงค่ะ

 

บู๊สต์สมองไบรท์แบบอัจฉริยะ ไอน์สไตน์

หากให้เลือกว่า อยากจะมีสมองเป็นเลิศเหมือนใครร้อยทั้งร้อยต้องเทคะแนนให้เขาคนนี้

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง สวมเสื้อผ้ายับยู่ยี่ และเป็นศาสตราจารย์ที่มีความใฝ่รู้พอๆ กับลูกๆ ซึ่งเราทุกคนรู้จักเขาดีในฐานะอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 20

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เล่นปนเรียน 

ไอน์สไตน์เกิดที่เมืองอุล์ม ประเทศเยอรมนี เด็กชายไอน์สไตน์มีลักษณะช่างคิดช่างฝัน อยากรู้อยากเห็น ชอบประกอบชิ้นส่วนเป็นรูปต่างๆ สารพัดชนิด เช่น เคยก่อไพ่เป็นบ้านหลังใหญ่ ใช้เวลาทุ่มเทกับเกมตัวต่อ ชอบของเล่นประเภทกงล้อและชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ที่สนใจมากที่สุดคือ เข็มทิศที่ชี้ไปทางทิศเหนือตลอดเวลา ซึ่งพ่อให้เขาดูเมื่อตอน 5 ขวบ นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้าในเวลาต่อมา

จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เหมาะสม และได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอน ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้เขาผสานความอยากรู้อยากเห็น และการรับรู้อย่างฉับไว แบบเด็กเข้ากับวิธีคิดอย่างเป็นระบบแบบผู้ใหญ่ได้อย่างลงตัว

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เคยเล่าถึงลักษณะพิเศษของอัจฉริยะผู้นี้ว่า

“ผู้คนร่วมสมัยกับเลโอนาร์โด ดา วินชี ต่างพากันแปลกใจ เมื่อเห็นว่าเขายังเล่นเหมือนเด็ก ๆ แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่นเดียวกับไอน์สไตน์ที่มีจินตนาการและการเล่นแบบเด็ก ๆ ฝังลึกอยู่ในตัวเสมอ”

จุดเด่นของไอน์สไตน์คือ เป็นเด็กที่ชอบเล่นปนเรียน ซึ่งนำเขาไปสู่เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้ได้ทดสอบความคิดและความเข้าใจกับเพื่อนๆ เสมอ ในหัวข้อทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ตลอดจนปรัชญาและวรรณคดี

ไอน์สไตน์อธิบายกระบวนการคิดของเขาว่า

“หากมองในแง่จิตวิทยา ‘เล่นปนเรียน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์”

หลังจากไอน์สไตน์เสียชีวิตลง ดร.มาเรียน ไดอะมอนด์ (Dr.Marian Diamond) มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ชี้ให้เห็นว่าการเล่นปนเรียนกับเงื่อนไขเชิงกระตุ้นแบบต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ไอน์สไตน์พยายามรักษาไว้ตลอดชีวิตของเขา

อาจเพราะเขารู้ว่า นี่เป็นกุญแจสำคัญ ที่เอื้อให้คนเราสามารถพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของสมองในการเชื่อมโยงเรื่องหรือรายละเอียดต่างๆ เข้าด้วยกัน และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความอัจฉริยะ

ดนตรี ส่งผลดีต่อสมอง
การเล่นดนตรี มีผลดีต่อสมองและระบบประสาท

ดื่มด่ำดนตรี

จากแม่ที่บ่มเพาะให้เขาสนใจเรื่องสุนทรียภาพ ทั้งวรรณคดี ศิลปะ และดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวโอลินทำให้ไอน์สไตน์ชอบเล่นไวโอลินตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนตอนอายุ 6 ขวบ จนวัยรุ่นเขาก็นำไวโอลินไปไหนมาไหนด้วย เขาชอบเล่นเพลงของบาค เบโทเฟน และโมซาร์ทเป็นพิเศษ

การศึกษาในเวลาต่อมาพบว่า การเล่นไวโอลินมีผลดีต่อสมองและระบบประสาท นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่ออารมณ์ จิตใจ จิตวิญญาณภายใน และให้ความเข้มแข็งอีกด้วย

ส่วนการเล่นเปียโน เขามักเล่นเปียโนแบบนึกทำนองดนตรีขึ้นเองตามอารมณ์ แล้วปล่อยความคิดให้เป็นอิสระ

ลูกชายคนโตของเขาเคยตั้งข้อสังเกตว่า ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เป็นพ่อ เขาเล่าว่า

“เมื่อไรก็ตามที่พ่อรู้สึกว่ามาถึงทางตันหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พ่อก็จะอาศัยดนตรีเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นความคิดให้บรรเจิด ซึ่งก็ช่วยให้พ่อแก้ปมปัญหาที่ยากลำบากได้เสมอ”

นอกจากสมองที่มีลักษณะพิเศษของไอน์สไตน์แล้วจะเห็นได้ว่า การเลี้ยงดูและการดำรงชีวิตที่มีผลดีต่อสมองมีผลอย่างมากให้การเป็นอัจฉริยะของเขาคงอยู่ตลอดชีวิต

อัจฉริยะสร้างได้ สุขภาพสมองที่ดีซึ่งเอื้อต่อการทำงานก็สร้างได้เช่นกันค่ะ

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.