เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง

Q&A เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง ในโรคผู้หญิง

เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง กับ 5 คำถาม ที่คุณควรรู้

เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง “แผลเล็ก เจ็บนิดเดียว ฟื้นตัวไว” คือคุณสมบัติที่โรงพยาบาลชั้นนำกล่าวถึง เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง โดยเฉพาะการผ่าตัดผ่านกล้องที่เกี่ยวข้องกับโรคผู้หญิง

วันนี้เราจึงเกาะกระแสเทคโนโลยีการแพทย์ดังกล่าวมาฝากเพื่อให้ทราบถึงวิธีการ ประโยชน์ ผลข้างเคียง รวมถึงสนนราคาในการเข้ารับการรักษา โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อัมพัน  เฉลิมโชคเจริญกิจ ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้มาตอบคำถามข้อสงสัยให้ฟัง

Q: การผ่าตัดผ่านกล้อง แผลเล็กจริงหรือ
A : จริง

เพราะ เทคโนโยีผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) โดยเฉพาะทางนรีเวชเป็นการเจาะรูขนาดเล็ก ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร  จำนวน 1 - 4 แผล  แต่ที่เป็นการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานการผ่าตัดผ่านกล้องคือ ต้องมีจำนวน 3 - 4 แผล โดยเจาะที่สะดือหรือบริเวณหน้าท้องเพื่อสอดกล้องกำลังขยายสูงและเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กลงไป โดยกล้องนี้สามารถซอกซอนลงไปในช่องท้องเพื่อดูอวัยวะต่างๆ ได้ละเอียดกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งบางครั้งไม่สามารถเห็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังได้

จากนั้นจะส่งภาพอวัยวะกลับมายังจอมอนิเตอร์ ซึ่งยิ่งจอมอนิเตอร์มีขนาดใหญ่มากเท่าไร  หมอจะยิ่งเห็นรอยโรคหรือความผิดปกติชัดเจนยิ่งขึ้น จึงสามารถทำการผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้นนอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้องไม่ว่าจะเป็นทางนรีเวช ระบบทางเดินอาหารหรือระบบอื่นๆ จะมีการสอดเครื่องมือผ่านทางช่องธรรมชาติ เช่น ช่องคลอดลำคอ ทวารหนัก เพื่อเข้าไปตรวจหรือรักษาอวัยวะที่อยู่ใกล้ช่องตามธรรมชาติด้วย จึงไม่จำเป็นต้องเจาะรูเปิดหน้าท้อง ซึ่งจะทำให้เกิดบาดแผลด้านนอก

สำหรับ เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง ช่องธรรมชาติที่ใช้รักษาโรคทางนรีเวชจะใช้การสอดเครื่องมือผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปตรวจหรือรักษาโรคที่อยู่บริเวณโพรงมดลูกเช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อ พังผืดในโพรงมดลูก แต่หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตรอาจไม่สามารถผ่าตัดวิธีนี้ได้

เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง, ผ่าตัดส่องกล้อง, ผ่าตัดหน้าท้อง,

Q: ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องใช้รักษาโรคอะไรของผู้หญิงมากที่สุด
A: จากสถิติที่ผ่านมาโรคที่เราทำการผ่าตัดมากที่สุดคือ ช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่และเนื้องอกมดลูก

ซึ่งทั้งสองโรครวมกันพบถึงร้อยละ 80 ของการผ่าตัดผ่านกล้องทั้งหมด โดยปีหนึ่งๆ ทางโรงพยาบาลศิริราช เฉพาะโรคทางนรีเวชจะมีผู้เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องประมาณ 1,000 คน เฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 5 คน ถามว่าเพราะเหตุใดจึงพบโรคช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่และเนื้องอกมดลูกกันมากที่สุด

ตอบได้ว่า การเกิดช็อกโกแลตซีสต์นั้นเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น ไลฟ์สไตล์การกินอยู่ พันธุกรรม  ที่สำคัญ  การแต่งงานช้า  เนื่องจากพบว่า การแต่งงานมีลูกจะช่วยให้อาการช็อกโกแล็ตซีสต์ดีขึ้น บางคนจากที่เคยปวดท้อง เมื่อตั้งครรภ์คลอดลูกแล้วอาการปวดก็หายไป รวมถึงเมื่อผู้หญิงเหล่านี้กินยาคุมจะช่วยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่แห้งลงด้วย

นอกจากนี้โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยังเป็นโรคที่มีการตรวจพบค่อนข้างช้า งานวิจัยในประเทศแถบสแกนดิเนเวียพบว่า กว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะตรวจพบว่าตนเองเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นับตั้งแต่มีอาการต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึง 10 ปี  เช่นเดียวกับผู้หญิงในประเทศไทย

เนื่องจากการตรวจหาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจคัดกรองที่ละเอียดบางครั้งการทำอัลตราซาวนด์ไม่สามารถทำให้เห็นรอยโรคต้องทำการตรวจภายในหรือตรวจผ่านทวารหนักเพื่อเข้าไปคลำอวัยวะภายในโพรงมดลูกว่า กดเจ็บหรือไม่ มีความนุ่มหรือแข็ง หากนุ่มถือว่าปกติ

แต่หากแข็งหรือไม่เรียบลื่นแสดงว่าอาจมีการกระจายของเยื่อบุโพรงมดลูกผิดที่ความอันตรายของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ หากกระจายเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานจะทำให้เกิดพังผืดที่อาจไปเชื่อมติดกับมดลูก อาจกินลึกเข้าไปในลำไส้ ทะลุกระเพาะปัสสาวะเบียดท่อไต บางรายทำให้ไตเสื่อมโดยไม่รู้ตัว หรือกระจายไปเกิดพังผืดที่ปอด บางครั้งพบผู้หญิงมีภาวะปอดแตกขณะมีประจำเดือนเนื่องมาจากโรคนี้

เนื่องจากโรคนี้จะทำให้มีการเจริญของเยื่อบุในส่วนต่างๆ ของช่องท้อง ดังนั้นการผ่าตัดผ่านกล้องจึงสามารถเข้าไปจัดการเลาะพังผืดที่กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ได้ดี แต่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ความเชี่ยวชาญ และต้องใช้เวลาในการผ่าตัดค่อนข้างนานส่วนสาเหตุการโรคเนื้องอกมดลูกนั้นบอกได้ยาก

เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ไลฟ์สไตล์ พันธุกรรม มักเกิดกับผู้หญิงในช่วงเจริญพันธุ์  คืออายุระหว่าง 25 - 45 ปีและบางคนเข้าใจผิดว่า เนื้องอกจะฝ่อไปเองเมื่อหมดประจำเดือน ซึ่งไม่เป็นความจริงเนื้องอกที่เกิดขึ้นจะไม่มีขนาดเล็กลง  แต่จะมีขนาดเท่าเดิม ไม่โตขึ้น  นอกจากนี้เนื้องอกเหล่านี้จะมีโอกาสเจริญไปเป็นโรคมะเร็งต่ำมาก พบอุบัติการณ์เกิดโรค 1 ต่อ 700 คน

โดยอาการของโรคเนื้องอกมดลูกนั้นมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน บางคนแค่มีอาการปวดท้องประจำเดือน บางคนมดลูกมีขนาดใหญ่แล้วไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้ฉี่บ่อย ดังนั้นวิธีรักษาเบื้องต้นคือ การให้กินยาหรือฉีดยาที่เรียกว่า “ยาวัยทองเทียม” เพื่อช่วยลดขนาดของมดลูกลง

ทั้งเพื่อรักษาในกรณีไม่ต้องการผ่าตัดหรือช่วยให้มดลูกมีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถผ่าตัดเนื้องอกผ่านกล้องได้ง่ายขึ้นการรักษาเนื้องอกมดลูก โดย เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง สามารถทำได้ด้วยการตัดมดลูกออกทั้งหมด หรือคว้านออกเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอกแล้วเก็บมดลูกไว้

สำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีลูกโดยจะมีเครื่องมือชนิดที่ช่วยปั่นเนื้อเยื่อให้มีขนาดเล็กลง แล้วค่อยๆ ดึงเนื้อเยื่อผิดปกตินั้นผ่านมาทางรูเล็กๆ บริเวณช่องท้องที่เจาะไว้ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการผ่าตัดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

New Technology : ผ่าตัดต้อกระจก รพ.วัดไร่ขิง @ สุขุมวิท

เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด : มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น

Q: การผ่าตัดผ่านกล้องมีข้อดีและข้อควรระวังอย่างไร
A: เนื่องจากการผ่าตัดผ่านกล้องนั้นทำให้มีแผลขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร

แผลบริเวณหน้าท้องหรือสะดือ ซึ่งเป็นผิวหนังส่วนที่บางที่สุด เวลาเจาะจึงต้องเจ็บน้อยที่สุด และเมื่อแผลหายแล้วจะไม่เห็นแผลเป็นเพราะอยู่ในรูสะดือ นอกจากนี้เพราะแผลมีขนาดเล็กจึงเกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเพียงเล็กน้อยคนไข้สามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วัน ส่วนใหญ่ผ่าตัดวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลับบ้านได้แล้วและสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การผ่าตัดผ่านกล้องก็เหมือนการผ่าตัดหรือการรักษาโรคทั่วไปที่ต้องอาศัยผู้ชำนาญในการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นงานที่มีความละเอียดสูง ดังนั้นระหว่างการผ่าตัดเครื่องมืออาจไปเกี่ยวกับอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้องทำให้เกิดบาดแผลซึ่งต้องรีบทำการห้ามเลือดให้เร็วที่สุด

ที่น่ากังวลที่สุดคือ การผ่าตัดไปโดนลำไส้ ซึ่งหากลำไส้ทะลุอาจทำให้สิ่งสกปรกที่ตกค้างในลำไส้หลุดออกมาในช่องท้องและเกิดการติดเชื้อได้ จึงต้องวินิจฉัยและให้ยาแก้ทันที แต่ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือ การเกิดแผลเล็กบริเวณลำไส้โดยไม่ทันสังเกต ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการอักเสบในช่องท้องภายหลังได้

ดังนั้น เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องการผ่าตัดผ่านกล้องจึงจำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และความละเอียดรอบคอบสูงนอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่กว่า 15 เซนติเมตรขึ้นไปผู้ป่วยที่เป็นโรคกะบังลมรั่ว โรคปอด หรือโรคหัวใจ

Q: ควรดูแลสุขภาพก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องอย่างไร
A: ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้องเตรียมสุขภาพให้แข็งแรง

โดยการออกกำลังกายเพื่อป้องกันการเป็นหวัดหรือเจ็บป่วยระหว่างผ่าตัด กินอาหารอ่อนๆ ก่อนการผ่าตัด 2 วัน เพื่อให้ลำไส้ทำงานน้อยลง และไม่เกิดอาการท้องอืดหลังผ่าตัดวันที่เข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะทำการสวนล้างลำไส้ ทำความสะอาดผิวบริเวณหน้าท้อง และต้องมีการวางยาสลบ

หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วในช่วงพักฟื้นให้กินอาหารอ่อนๆ และสามารถขยับตัวทำกิจวัตรประจำวันได้ ยกเว้นการออกกำลังกายหนัก ๆ

Q: การผ่าตัดผ่านกล้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไรและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่
A: ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดผ่านกล้อง สำหรับโรงพยาบาลรัฐบาลเฉลี่ยอยู่ที่ราคา 50,000 - 60,000 บาท

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป 150,000 - 200,000 บาทโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียม 200,000 - 300,000 บาท ส่วนสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลสำหรับการผ่าตัดโรคทางนรีเวช ข้าราชการเบิกได้เฉพาะการผ่าตัดมาตรฐานที่เป็นการเปิดหน้าท้อง

ดังนั้นหากต้องการผ่าตัดผ่านกล้องจำเป็นต้องจ่ายส่วนต่างเอง เช่น สิทธิ์ค่าผ่าตัดมาตรฐานให้งบที่ 20,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดผ่านกล้องจำนวน 50,000 บาท คนไข้ต้องจ่ายส่วนต่างเองจำนวน 30,000 บาท

ส่วนสิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทองนั้นไม่ครอบคลุมการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง  นอกจากว่าเป็นวิธีการรักษาเดียวที่สามารถช่วยคนไข้ได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์นี่แหละค่ะ

ตัวอย่างของเทคโนโลยีการแพทย์ เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง ที่ช่วยให้ชีวิตปลอดภัย ห่างไกลจากโรค ถึงอย่างนั้นก็อยากให้คุณผู้อ่านมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ซึ่งถือว่าคือสุดยอดแห่งการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ

ที่มา : คอลัมน์ TRENDY HEALTH เรื่องโดย ชมนาด นิตยสารชีวจิต

บทความอื่นที่น่าสนใจ

บ.ก.ขอตอบ : 11 วิธีกินให้อร่อย แก้ปัญหา โรคกรดไหลย้อน

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

กฎเหล็ก ป้องกันมะเร็งเต้านม

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.