ต้อลม โรคดวงตาที่ควรระวัง ก่อนลุกลามจนยากจะรักษา
เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากที่สุดอีกหนึ่งอวัยวะ เราควรดูแลและสังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ และอีกหนึ่งปัญหาทางสายตาที่คนส่วนใหญ่เป็นกันมากก็คือ ต้อลม
และเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่รุนแรงในดวงตา ซึ่งหากพบว่าเริ่มมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อปลอดภัยมากที่สุด
สำหรับปัญหาทางสายตาที่คนส่วนใหญ่เป็นกันมากก็คือ “ต้อ “ ซึ่งโรคนี้มีหลายประเภทด้วยกัน คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาโรคตาส่วนใหญ่เมื่อมาพบแพทย์ จะได้รับการวินิจฉัยว่า ตาเป็นต้อ และมักจะตกใจกลัว เพราะเข้าใจว่าโรคต้อจะต้องร้ายแรงทำให้ตาบอด
ความจริงแล้วโรคต้อมีหลายชนิด บางชนิดอันตรายทำให้ตาบอดได้ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก แต่บางชนิดไม่มีอันตรายไม่ทำให้ตาบอด เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม โดยต้อเนื้อและต้อลมเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยมากแต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแบบต้อหิน และต้อกระจก
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งชนิดของต้อ นั่นก็คือต้อลม ที่อาจไม่รุนแรงมาก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา หรือหาทางป้องกันก็อาจส่งผลนำไปสู่อาการที่รุนแรงได้ค่ะ
ทำความรู้จักกันก่อนว่า ต้อลม คืออะไร
ต้อลม (Pinguecula) เป็นโรคที่เกี่ยวกับดวงตาชนิดหนึ่ง เกิดจากการเสื่อมของเยื่อบุตาขาว โดยจะมีก้อนเม็ดเล็ก ๆ สีเหลืองใส นูนอยู่บริเวณตาขาว ซึ่งสามารถขึ้นได้ทั้งหัวตาหรือหางตา หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการเป็นต้อลมคือเนื้องอกในตา หรือเป็นโรคที่สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้ ซึ่งในความจริงแล้วตุ่มที่นูนขึ้นมานั้นไม่สามารถกลายเป็นเนื้อร้ายหรือแพร่เชื้อได้
โดยส่วนมากเราจะพบโรคต้อลมในคนที่มีอายุค่อนข้างเยอะ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ผู้ที่อายุน้อย หรือ อยู่ในวัยกลางคน เช่น วัยทำงาน ก็มีโอกาสเป็นโรคชนิดนี้ได้เช่นกัน อันเนื่องมาจากการทำงานในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน ลม หรือ รับรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสีUV) เป็นเวลานาน ซึ่งปัจจัยข้างต้นจะมีผลกระทบกับดวงตาตรง ๆ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคต้อลมได้เช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิด ต้อลม
- ดวงตาสัมผัสแสง UV เป็นประจำ โดยปราศจากการป้องกัน
- ดวงตาที่สัมผัสกับฝุ่นควัน ลม สารเคมี มลภาวะ รวมไปถึงความร้อน ก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับเยื่อบุตาขาวได้
- ผู้ที่มีปัญหาตาแห้งบ่อยๆ เช่น การใช้สายตาหนัก เป็นต้น
อาการของโรคต้อลมเป็นอย่างไร
ผู้ที่มีอาการของต้อลม จะปรากฏอาการน้อยหรือมากนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและการใช้ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาการของต้อลมนั้น มักจะมีการระคายเคืองดวงตาและมีอาการที่ปรากฏชัดเจน ดังนี้
- เกิดตุ่มนูนขนาดเล็กสีเหลือง ๆ บริเวณที่ตาขาว
- มีความรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา เช่น เศษผง เม็ดทราย
- บางรายมีอาการตาแดง คันตา และอักเสบร่วมด้วย
- รู้สึกตาแห้ง และ แสบตา
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคต้อลม
โรคต้อลมเป็นโรคที่เกี่ยวกับดวงตาที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิน ๆ แม้โรคต้อลมจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงถึงขนาดตาบอด แต่ก็เป็นสาเหตุของโรคดวงตาอื่น ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งการป้องกันโรคต้อลม สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ไปกระตุ้นการเกิดโรคต้อลม เช่น ลม แสงแดด ความร้อนจากรังสี UV แต่หากจำเป็นต้องเผชิญกับปัจจัยเหล่านี้ ควรสวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันดวงตาเมื่ออยู่ท่ามกลางแสง UV เวลานาน ๆ
- สำหรับคนที่ตาแห้งบ่อย ๆ ควรหยอดน้ำตาเทียมช่วย เพื่อลดอาการตาแห้ง
- สำหรับพนักงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ควรพักสายตาจากคอมพิวเตอร์บ้าง เพื่อป้องการอาการตาแห้ง
การรักษา
ในกรณีที่ไม่มีอาการผิดปกติ อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษา แต่ถ้ามีอาการ เคืองตา ตาแดง อาจให้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการ สำหรับต้อลม ไม่ต้องทำการผ่าตัด แต่สำหรับต้อเนื้อ ถ้าเนื้อเยื่อเข้าไปจนถึงกลางกระจกตาจะทำให้บดบังการมองเห็นได้ หรือเกิดอาการมัวจากการที่ต้อเนื้อดึงกระจกตาดำให้เกิดสายตาเอียง จักษุแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก หรือ ในกรณีที่ตาแดงอักเสบบ่อยๆ สามารถทำผ่าตัดลอกต้อเนื้อเพื่อให้ดูสวยงาม ขึ้น ในปัจจุบันมักผ่าตัดและวางเนื้อเยื่อใหม่ (graft) ซึ่งอาจเป็น เยื่อบุตาขาวของเจ้าตัวเองหรือใช้เยื่อหุ้มรกที่เตรียมพิเศษ เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำใหม่
ข้อมูลประกอบจาก: รพ.ศิครินทร์
ชีวจิต Tips สารอาหารบำรุงสายตา ที่ควรกินหากอยากสายตาดีไปนานๆ
อายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็เริ่มเสื่อม รวมเป็นถึงดวงตาด้วย วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับ สารอาหารบำรุงสายตา จากหนังสือ สายตาดี ด้วยวิธีมหัศจรรย์ โดย อุราภา วิฒนะโชติ สำนักพิมพ์ AMARIN Health มาฝากค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
วิตามินเอ
ช่วยไม่ให้เยื่อบุตาแห้ง ลดการปวดกระบอกตา บำรุงสายตา ป้องกันอาการตาบอดตอนกลางคืน เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น เสริมสร้างเม็ดสีที่มีคุณสมบัติไวต่อแสงในตา ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับจอตา วิตามินเอแบบสำเร็จที่เราเรียกว่า เรตินอล พบได้ในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น ส่วนแคโรทีน พบในอาหารที่มาจากพืชและสัตว์
วิตามินบี
วิตามินบีรวม บี1 บี2 และบี6 เป็นวิตามินที่บำรุงระบบประสาท ส่งผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจ การต่อสู้กับความเครียด ส่งเสริมการเจริญเติบโต ช่วยเผาผลาญไขมัน ช่วยสมานแผล และป้องกันโรคตาได้ หากได้รับวิตามินบี2ไม่พอ ตาจะอักเสบ แดง และระคายเคืองได้ง่าย
วิตามินบีพบมากในข้าวกล้องและธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ขนมปังโฮลวีต ถั่วเหลือง ถั่วลิสง วอลนัต รำข้าว นม ไข่แดง ปลา ตับ ชีส โยเกิร์ต ฯลฯ
วิตามินซี
เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสุดทรงพลัง สามารถป้องกันไม่ให้เลนส์ตาขุ่น ช่วยให้เลนส์ตาใส ป้องกันต้อกระจก วิตามินซีจะทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อทำงานกับไบโอฟลาโวนอยด์ (ฺBioflavonoid) สารที่เพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอยและควบคุมการดูดซึมของสารต่างๆ ในร่างกาย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม
วิตามินซีพบมากในส้ม มะนาว มะขามป้อม ฝรั่ง บรอกโคลี พริกหยวกสีแดงกับเขียว สตรอว์เบอร์รี่ แคนตาลูป องุ่น ลูกพลัม และจากโรสฮิปหรือผลกุหลาบ
วิตามินอี
วิตามินอีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวิตามินเอ โดยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม ช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชันของสารในกลุ่มไขมันชนิดไม่ดี รวมทั้งช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบเรื่อรัง ชะลอการเสื่อมของเซลล์ และลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก
วิตามินอีพบมากในจมูกข้าว ผักใบเขียว ไข่ วอลนัต เมล็ดทานตะวัน ซีเรียลชนิดโฮลเกรน (ธัญพืชยังมีส่วนประกอบครบถ้วน ทั้งเยื่อหุ้มเมล็ด เนื้อเมล็ด และจมูกข้าว)
แอนโทไซยานิน
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บิลเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ โกจิเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ นับว่าอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่างๆ เช่น เอ บี ซี อี เค แร่ธาตู เช่น โพแทสเซียม โดยเฉพาะแอนโทไซยานิน ซึ่งพบในพืชและผลไม้ที่ให้สีแดง น้ำเงิน หรือม่วง โดยเฉพาะ ตระกูลเบอร์รี่
แอนโทไซยานินทำหน้าที่จับกับเซลล์บุผิวที่จอภาพเรติน่าได้ดี ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์และคืนสภาพสารโรดอปซิน (หรือสารสีม่วงแดงที่อยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์รูปแท่ง) ออกมาหลังจากถูกแสง จึงช่วยทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดี ช่วยลดอาการเมื่อยล้าของดวงตาเมื่อใช้สายตานานๆ ลดการเสื่อมที่มักจะเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ตาเสื่อมในคนสูงอายุ
บทความอื่นที่น่าสนใจ
การแช่เท้าด้วยยาจีนช่วย แก้ปวดประจำเดือน
เปิดตำราหมอ ฮิปโปเครตีส ผู้บัญญัติศัพท์ “Cancer” หรือมะเร็ง คนแรกของโลก
สังเกตลิ้น เช็ค แพ้อากาศ + ไรฝุ่น
เกลือและโซเดียม ภัยเงียบบั่นทอนสุขภาพ
5 วิธีลดความดันโลหิตสูง ด้วยตัวเอง
ติดตามชีวจิตได้ที่