กรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนทำงานดึก นอนน้อย

โรคกรดไหลย้อน ชีวิตวนลูป กินดึก นอนน้อย

การนอนน้อย การนอนดึก เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด โรคกรดไหลย้อน ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นโรคยอดฮิตอีกชนิดที่สร้างความทรมานให้คนทำงานยุคใหม่ เราควรรู้สาเหตุ การป้องกันและเยียวยารักษาอาการกัน

โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนทำงานดึก นอนน้อย ก่อนอื่นเราไปดูสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และวิธีแก้กันค่ะ

อาจารย์สาทิสอธิบายว่า ภาวะกรดไหลย้อนมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Gastrooesophageal Reflux Disease” เรียกย่อๆ ว่า GORD หรือ GERD ในอดีตแพทย์เรียกกรดไหลย้อนว่า “Heart Burn” เพราะคนที่เป็นกรดไหลย้อนจะมีอาการแสบท้องหรือร้อนที่ท้องเนื่องจากอาหารไม่ย่อย มีกรดเกิน

โรคกรดไหลย้อน

เมื่อกระเพาะอาหารบีบตัว อาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารจะไปดันอาหารที่ไม่ย่อยให้เกิดการย้อนขึ้นกลับไปถึงหลอดอาหาร น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารจึงขึ้นมาตกค้างอยู่บริเวณหลอดอาหาร และอาจขึ้นปถึงคอหอยได้ จึงมีการคั่งค้างของน้ำย่อย

น้ำย่อย ในกระเพาะอาหารที่ว่าคือ “กรดไฮโดรคลอริก” (Hydrochloric Acid) ซึ่งเป็นกรดที่กัดกร่อนรุนแรงถึงขั้นกัดเหล็กให้สึกกร่อนได้เลย ดังนั้นเมื่อกรดชนิดนี้ไปตกค้างอยู่ที่บริเวณไหน คุณจะรู้สึกแสบหรือแน่นบริเวณนั้นอยู่ตลอดเวลานั่นเองค่ะ

สาเหตุของกรดไหลย้อน

เกิดจากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร มีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว และยังเกิดได้จากพฤติกรรมเสี่ยง ไลฟ์สไตล์ที่ผิด การกินอาหารดึกแล้วนอน จึงทำให้มีผลต่อระบบย่อยอาหาร เช่น การดื่มกาแฟมากเกินไป การกินขนมหวานจัด มันจัด การกินอาหารมากไปจนล้นกระเพาะอาหาร หรือภาวะความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้กระเพาะอาหารยิ่งบีบตัวมากขึ้น

อาการกรดไหลย้อน

อาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่ากรดในท้องกำลังไหลย้อนขึ้นมาแน่ๆ ได้แก่

  • อาการปวดและการแน่นท้อง
  • ภาวะท้องอืด
  • แสบท้องตั้งแต่บริเวณเหนือสะดือขึ้นมาถึงคอหอย
  • การสำรอกออกมาเพราะอาหารไม่ย่อย

ส่วนใครที่เคยรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปาก นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กรดไหลย้อนขึ้นไปถึงคอหอย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียนตามมาได้ค่ะ

บรรเทาอาการกรดไหลย้อน

หลายคนเป็น “กรดไหลย้อน” เรื้อรัง นานๆ เข้า อาการเริ่มรุกหนัก แม้เวลานอนก็ไม่เว้น ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้อาการทุเลาเบาบางลงได้ ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป ระหว่างการปรับพฤติกรรม และการเลือกทานอาหารที่ช่วยลดกรดไหลย้อน

ปรับพฤติกรรม ลดกรดไหลย้อน

1. กินอาหารเย็นเร็วขึ้น

การเข้านอนโดยที่ท้องอิ่มแปล้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของอาการกรดไหลย้อนควรกินอาหารเย็นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนนอนเพื่อทําให้ท้องว่างก่อนเข้านอน

2. เดินผ่อนคลาย

หลังอาหารให้เดินผ่อนคลายสบายๆ สักครู่ วิธีการนี้จะช่วยย่อยอาหารได้ดี ป้องกันอาการกรดไหลย้อนได้แต่ไม่แนะนําให้ออกกําลังกายก่อนนอน เพราะทําให้มีอาการกรดไหลย้อนได้

3. จดบันทึกของแสลง

อาหารแต่ละชนิดจะกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนในแต่ละคนแตกต่างกันไป ดังนั้นควรจดรายการอาหารเย็นของทุกวัน ถ้าพบว่ากินอาหารเย็นชนิดไหนแล้วมีอาการกรดไหลย้อนตอนกลางคืนบ่อยๆ ก็จะรู้ได้ว่าควรเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

4. ใส่ชุดนอนแบบหลวมสบาย

ระวังขอบกางเกงชุดนอนที่คับเกินไป เพราะชุดนอนที่คับจะทําให้เกิดแรงกดที่ท้องเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

5. นอนตะแคงซ้าย

นายแพทย์ชาร์ลส์ เอลสัน จากมหาวิทยาลัยแอละแบมา วิทยาเขตเบอร์มิงแฮม ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่านอนท่านี้ ช่วยจัดท่าทางให้กระเพาะอาหารอยู่ในท่าที่เหมาะสม ช่วยทําให้กรดในกระเพาะอาหารไม่ตีกลับขึ้นไปที่กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่าง

โรคกรดไหลย้อน

เมนูแก้โรคกรดไหลย้อน แบบฉบับชีวจิต

แซนด์วิชลดกรด

วิธีนี้เป็นวิธีแก้โรคแบบดั้งเดิม คือน้ำขนมปังโฮลวีตไปปิ้งพอเกรียม หั่นหอมหัวใหญ่เป็นชิ้นบางๆ ยัดเป็นไส้ขนมปังทำเป็นแซนด์วิช กินเป็นอาหารเช้า พยายามกินติดต่อกันทุกเช้า เป็นเวลา 2 สัปดาห์

สลัดผักสลัดกรด

เวลากินสลัดผักสด ให้เติมกระเทียมดิบ แครอตดิบ และเซเลอรี่ดิบลงไปมากๆ อาจารย์สาทิสแนะนำว่า เมื่อเป็นโรคนี้ควรกินผักที่มีกากใยสูง เช่น กลุ่มของผักคะน้า บรอกโคลี ผักบุ้ง ตำลึง และพยายามเลี่ยงผักผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น ส้ม มะนาว มะเขือเทศ

กรดไหลย้อน

ชาขิงร้อนช่วยย่อยอาหาร

ขิงเป็นสมุนไพรไทยที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านานและมีคุณประโยชน์สารพัด โดยนำขิงแก่มาปอกเปลือก หั่นเป็นแว่น ต้มในน้ำร้อนจนเดือดกรองเอากากขิงออก ดื่มแต่น้ำขิงอุ่นๆ

น้ำแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์+น้ำผึ้ง

นำแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ปริมาณ 3 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ แล้วเติมน้ำร้อนครึ่งแก้ว คนให้เข้ากัน จิบตลอดทั้งวัน ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนในท้องและช่วยลดกรดเกินในกระเพาะอาหารได้

ที่มา

นิตยาสารชีวจิต เล่มที 505 ปีที่ 22 : 16 ตุลาคม 2562

คอลัมน์เกร็ดสุขภาพ ชีวจิตมือโปร นิตยสารชีวจิต ฉบับ 336

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เปิดตำรา กิน “กล้วยน้ำว้า” สู้โรคระบบย่อย
แจก!!! วิธีทำน้ำอาร์ซี สูตรชีวจิตแท้ๆ ดื่มต้านภูมิแพ้ แทนกาแฟก็ได้
อาหารดี ช่วยทำให้ตับแข็งแรง
แจกสูตรผักพื้นบ้าน ช่วยคุมไขมัน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.