บอลลูนหัวใจ

8 MUST DO สิ่งควรทำหลังทำ บอลลูนหัวใจ

8 สิ่งที่คุณทำได้ และควรทำหลังทำ บอลลูนหัวใจ

เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งเขียนถึงเรื่อง “ความเสี่ยงควรรู้ก่อนทำ บอลลูนหัวใจ” ไปแหม็บ ๆ เรียกได้ว่าพอเครื่องร้อนแล้วก็เลยอยากต่อก๊อกสอง ด้วยการเขียนเรื่องการดูแลตัวเองหลังทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI) อีกสักหน่อย จึงขอเล่าสู่กันฟังดังนี้

  1. ในสัปดาห์แรก ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รอยแทงเข็ม (การมีรอยฟกช้ำรอบ ๆ รอยแทงเข็มถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อน) ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ (1) มีเลือดออกแล้วคั่ง (Hematoma) (2) เลือดเซาะจนผิวหนังโป่งขึ้นเป็นก้อน แล้วเต้นตุบ ๆ (Pseudoaneurysm) (3) เกิดการเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง (AV Fistula) จนเกิดเสียงฟู่ ๆ ขึ้น (4) ปลายแขนหรือปลายขาขาดเลือดไปเลี้ยง (Limb Ischemia) (5) เกิดการอักเสบติดเชื้อเป็นฝี (6) ลามไปเกิดฝีหรือเลือดคั่งที่หลังช่องท้อง (Retroperitoneal Hematoma) ซึ่งไปทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือบั้นเอว หรือความดันตก จากการเสียเลือดเข้าไปในช่องหลังช่องท้องได้ ภาวะแทรกซ้อนทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ 2 – 6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ในสัปดาห์แรกจึงไม่ควรออกกำลังกาย หรือยกของหนัก แต่ออกกำลังกายตามแผนการฟื้นฟูหัวใจได้
  2. การติดตามดูการทำงานของไต ซึ่งอาจเสียไปจากพิษของสารทึบรังสี ปัจจุบันห้องสวนหัวใจ ส่วนใหญ่ใช้สารทึบรังสีชนิด Non-ionic ซึ่งเป็นพิษต่อไตน้อย แต่ก็ยังมีพิษอยู่พอควร โดยเฉพาะในคนสูงอายุและคนเป็นโรคเบาหวาน หากเจาะเลือดดูครีเอตินีน ซึ่งบอกการทำงานของไต จะพบว่า การทำงานของไตจะทรุดลง 2 – 5 วันแรกหลังทำ แล้วจะค่อย ๆ กลับเป็นปกติใน 2 สัปดาห์ ในระยะ 2 สัปดาห์แรกนี้ การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยป้องกัน
    ความเสียหายต่อไตได้
  3. การประเมินอาการเจ็บหน้าอกหลังทำ PCI เนื่องจากประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำ PCI จะมีอาการเจ็บหน้าอกหลังทำ เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกต้องไปหาหมอ เพื่อประเมินอาการร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ถ้าเจ็บหน้าอกไม่มาก และ ECG ปกติ ก็ช่วยยืนยันได้ว่าไม่มีอะไรซีเรียส
  4. การเฝ้าระวังภาวะกลับมาขาดเลือดอีก (Recurrent Ischaemia) ซึ่งอาจเกิดจาก (1) การกลับตีบใหม่ (Restenosis) ที่มักจะเป็นช่วง 3 – 12 เดือน (2) โรคดำเนินต่อไป โดยไปตีบที่หลอดเลือดอื่นอีก กรณีนี้มักเป็นเมื่อพ้น 12 เดือนไปแล้ว (3) กล้ามเนื้อ
    หัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น โลหิตจาง ลิ้นหัวใจตีบ ออกกำลังกายมากขึ้น เป็นต้น
    แผนการเฝ้าระวังนี้แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการกลับตีบใหม่สูง แพทย์อาจเฝ้าระวังด้วยการตรวจสมรรถภาพหัวใจ (EST) เมื่อครบ 6 เดือน แม้ว่าจะเป็นการตรวจที่ไม่ดีนัก เพราะมีความไวเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือแพทย์อาจตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องกลัวขดลวดวิ่ง เพราะแรงแม่เหล็ก หรือกรณีที่ใส่ขดลวดไว้ที่จุดสำคัญ (Left Main) แพทย์อาจเฝ้าระวังโดยการสวนหัวใจฉีดสีดูซ้ำหลังทำ PCI ไปแล้ว 3 – 9 เดือนก็ได้
  5. การให้ยาป้องกันการกลับตีบใหม่ มาตรฐานปัจจุบันคือการให้ยาแอสไพรินควบกับคลอพิโดเกรล (พลาวิกซ์) ทุกราย นานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่เรื่องการกลับตีบแบบล่าช้า (Late Stent Thrombosis) แพทย์บางท่านจึงให้กินยาควบแบบนี้ไปนานถึง 1 ปี หลังจากนั้นก็ให้แต่แอสไพรินตัวเดียวไปตลอดชีวิต
    ในกรณีพิเศษที่มีการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมด้วย แพทย์อาจให้ตัวที่สามคือยาวาร์ฟารินเสริมเข้าไปด้วย
  6. การจัดการหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งหากเกิดขึ้น แพทย์ต้องเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวัง
    ยากั้นเบต้าเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนยา Amiodarone ซึ่งเป็นยายอดนิยมนั้นก็ใช้ได้อย่างปลอดภัย ถ้าไม่มีหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย แต่ว่ายานี้ไม่ได้ทำให้อัตราการตายลดลงแต่อย่างใด
  7. การจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเกิดหัวใจล้มเหลวขึ้น หมายถึงมีอาการหอบเหนื่อย
    หายใจไม่อิ่ม นอนราบไม่ได้ บวม แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาในกลุ่ม ACEIs ร่วมกับยาขับปัสสาวะในกลุ่มยาต้าน Aldosterone เฉพาะรายที่ทนยา ACEIs ไม่ได้ จึงจะใช้ยา
    ในกลุ่ม ARB แทน
  8. การป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดไม่ให้เป็นมากขึ้นไปกว่าเดิม (Secondary Prevention) ได้แก่ การปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของโรคลงกล่าวคือ
    (1) เลิกบุหรี่
    (2) ลดการดื่มแอลกอฮอล์
    (3) ออกกำลังกายให้ถึงระดับเหนื่อยพอควร วันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
    (4) ปรับโภชนาการให้มีสัดส่วนของผักผลไม้สูง และมีส่วนของแคลอรี ไขมัน และเกลือต่ำ
    (5) ถ้าไขมันในเลือดยังสูงอยู่ ต้องใช้ยาลดไขมันในเลือด โดยมีจุดที่จะต้องใช้ยาต่ำกว่าคนทั่วไปกล่าวคือ หากไขมัน LDL สูงเกิน 100 ก็เริ่มใช้ยาแล้ว
    (6) ถ้าความดันโลหิตยังสูงอยู่ก็ใช้ยาลดความดัน โดยมีจุดที่จะใช้ยาต่ำกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ ถ้าความดันโลหิตเกิน 140/80 มิลลิเมตรปรอท ก็เริ่มใช้ยาแล้ว
    (7) วางแผนชีวิตใหม่ ให้มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม

หลายข้ออาจต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่สำหรับข้อ 8 คุณทำเองได้ง่าย ๆ เชื่อสิ

เรื่อง นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 454 – FREE 84 TIPS FOR NEW AGING

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 กันยายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

มารู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันกันเถอะ

5 วัตถุดิบชั้นเยี่ยม กินอร่อย ป้องกันโรคหัวใจ

รู้เท่าทันโรคหัวใจ ในวันหัวใจโลก (World Heart Day)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.