รำกระบอง สไตล์ชีวจิต
รำกระบอง การออกกำลังกายที่คิดค้นโดย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ซึ่งเป็นวิธีออกกำลังกายที่ประหยัด เพราะใช้ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว เป็นอุปกรณ์ในลักษณะแกนหมุนให้ท่อนแขนยึด และมีท่าบริหารที่ใช้กระบองช่วยบิดหมุนร่างกายให้ได้องศาตามที่ต้องการทำให้สามารถบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ แกนกระดูกสันหลังได้ดีขึ้น
กระดูกสันหลังอวัยวะสำคัญที่ถูกลืม
นายแพทย์กรกฎ พานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคกระดูกและข้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า
กระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเพราะเป็นแกนยึดให้ร่างกายของเราตั้งตรงอยู่ได้ประกอบด้วยกระดูก 24 ท่อนเรียงต่อกัน แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนอก และส่วนหลัง เชื่อมต่อกับกระดูกเชิงกรานด้วยข้อต่อ การที่เราสามารถเคลื่อนไหวบิดหมุนร่างกายได้ เพราะรอบๆ กระดูกสันหลังมีกล้ามเนื้อห่อหุ้มอยู่ทุกทิศทางแบบ 360 องศา
คุณหมอกรกฎแนะนำว่า ถ้าไม่อยากปวดหลัง และมีอาการปวดตึงจนลามไปถึงคอ บ่า ไหล่ จนกลายเป็นโรคยอดฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรม ต้องหมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ
“จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ ส่วนใหญ่เมื่อซักประวัติเพื่อวินิจฉัยโรคก็มักพบว่า บุคคลนั้นมักอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน เช่น นั่ง หรือยืนจนเกิดอาการปวดเพราะใช้กล้ามเนื้อผิดท่าติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ตัวอย่างเช่น บางคนนั่งเอียงตัวไปด้านซ้ายกล้ามเนื้อด้านซ้ายจะทำงานหนักเพราะรับน้ำหนักมาก อาการปวดจะตามมา หรือถ้าเอี้ยวตัวไปทางซ้ายเพื่อหยิบของ แล้วรู้สึกเจ็บแปล๊บขึ้นมาเป็นเพราะกล้ามเนื้อด้านขวาถูกยืดมากเกินปกติ คนเมืองที่มีพฤติกรรมนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ นั่งขับรถยนต์ ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ ขาดทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่น โอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บก็จะมีมากขึ้นครับ”
ฟังคุณหมอกรกฎพูดถึงพฤติกรรมเสี่ยงเราๆ ท่านๆ ก็แทบจะหนีโรคออฟฟิศซินโดรมไปไม่พ้น ดังนั้น ชีวจิต คงต้องขอพึ่งการรำกระบอง พระเอกของเรา ช่วยปราบอาการปวดหลังให้ราบคาบเสียแล้ว
รำกระบอง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รับรองโดยงานวิจัย
งานวิจัยเรื่อง “ผลของการรำกระบองในการสร้างความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วุฒิชัย เพิ่มศิริวาณิชย์ และคณะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายว่า การรำกระบองมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้
1. กล้ามเนื้อหลัง คอ บ่า ไหล่ รวมถึงกล้ามเนื้อแขนและขาแข็งแรง
2. กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ข้างต้นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากกล้ามเนื้อหลังแล้วบริเวณเอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่องยังยืดหยุ่นมากขึ้นตามไปด้วย
3. เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ จึงแทบไม่มีผลต่อผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดกระดูกและข้อ
นอกจากนี้การรำกระบอง ยังเป็นวิธีฟิตสุขภาพที่แสนประหยัด เพราะมีอุปกรณ์เป็นท่อพีวีซี หาได้ง่าย ราคาไม่แพง สะดวก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ ในการฝึก จึงเหมาะกับการประยุกต์ใช้เป็นการออกกำลังกายในชุมชน โดยสามารถชักชวนกันออกมาทำกิจกรรมสร้างสุขภาพเป็นหมู่คณะ ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ฟื้นฟูจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสได้อีกด้วย
ถ้าจะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้องรำให้เหงื่อออกทั่วร่างกาย หัวใจเต้นเร็ว ตามสำนวนของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ที่ท่านใช้คำว่า “ต้องให้ถึงพีค” เพื่อให้โกร๊ธฮอร์โมนหลั่ง ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง ภูมิชีวิตเพิ่มขึ้น
12 ท่า รำกระบอง ฝึกง่าย ได้ความฟิต ป้องกันโรค
ก่อนฝึกรำกระบองนั้น อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง แนะนำไว้ว่า ต้องอุ่นเครื่องทุกครั้ง โดยจะใช้วิธีไหนก็ได้ ขอให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวจากน้อยไปหามากจนร่างกายตื่นตัวเต็มที่
วิธีอุ่นเครื่องง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ ซอยเท้าสูงๆ ยกเข่าให้จรดหน้าอกหรือเท่าที่ยกสูงได้ ต่อจากนั้นเราก็แกว่งแขนสั้น – ยาว แทงศอกสั้น แทงศอกยาว หลังจากนั้นก็ซอยเท้าให้เร็วขึ้น แทงศอกให้เร็วขึ้น ทำเช่นนี้ประมาณ 5 นาทีพอให้เหงื่อซึม ตอนนี้พร้อมแล้วสำหรับการฝึกทั้ง 12 ท่า เรียงลำดับดังต่อไปนี้
ท่าจูบสะดือ
เดิมคือท่าจูบสะดือ ขณะฝึกต้องให้เข่ายืดตรงและกดท่อนแขนแนบกับกระบองตลอดเวลา ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ กระดูกต้นคอ (Cervical Spine) ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังส่วนที่ต่อจากกะโหลก มี 7 ข้อ ตั้งแต่ C1 ถึง C7 ช่วยให้ก้ม เงย หันซ้าย – ขวา และเอียงคอไปมาได้สะดวก
1. ยืนตัวตรง กางขาเท่าความกว้างของไหล่หรือมากกว่าเล็กน้อยโดยประมาณ
2. นำกระบองขึ้นพาดบ่า โดยวางกึ่งกลางของกระบองไว้บริเวณก้านคอ แล้วใช้ท่อนแขน (ระหว่างข้อมือกับข้อศอก) กดกระบองไว้กับคอ
3. ก้มครั้งที่ 1 โดยค่อยๆ ก้มตัวลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มองลอดหว่างขา จากนั้นยกลำตัวขึ้นช้าๆกระทั่งยืนตัวตรง ทำซ้ำอีกครั้ง (ทำเหมือนครั้งที่ 1) นับเป็นครั้งที่ 2
4. ก้มครั้งที่ 3 โดยค่อยๆ ก้มตัวลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มองลอดหว่างขาแล้วค้างไว้ จากนั้นใช้กระบองนวดคลึงต้นคอด้านซ้าย ด้านหลัง และด้านขวา สลับกันไปมาให้สม่ำเสมอ รวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง
โดยใช้ท่อนแขนควบคุมการกลิ้งขึ้น – ลงของกระบองในแนวตรง เมื่อนวดครบครั้งที่ 10 แล้ว ยกลำตัวขึ้นช้าๆ จนกระทั่งยืนตัวตรง
5. ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 3 – 5 อีก 5 – 10 ครั้ง
ท่าไหว้พระอาทิตย์
เดิมคือท่าไหว้พระอาทิตย์ ขณะฝึกเข่าและศอกต้องเหยียดตรงตามองกระบอง ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ กระดูกสันหลังช่วงบั้นเอว ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังช่วงล่าง (Lumbar Spine) ตั้งแต่
L1 ถึง L5 ที่รองรับน้ำหนักร่างกายในท่าเดิมซ้ำๆ เช่น การนั่งหรือยืนนาน ๆ อันเป็นสาเหตุของโรคปวดหลัง การบริหารด้วยท่าดังกล่าวจึงช่วยบรรเทาอาการได้
- ยืนตัวตรง กางขาเท่าความกว้างของไหล่หรือน้อยกว่าเล็กน้อยโดยประมาณ
- คว่ำมือกำกระบองไว้ด้านหน้า โดยระยะห่างของมือควรเท่ากับระยะห่างของขาที่ยืน แขนเหยียดตรง
- วาดแขนทั้งสองขึ้นมาระดับหน้าอกโดยไม่งอศอก
- ตามองกระบองอย่างมีสมาธิ แล้ววาดแขนลงพร้อมๆ กับก้มตัวลงให้มากที่สุด โดยไม่งอเข่าและแขนเหยียดตรงตลอดเวลา
- พยายามยืดตัวลงเพื่อให้กระบองแตะพื้นมากที่สุด ขย่ม 5 ครั้ง
- ค่อยๆ วาดกระบองขึ้นจนกระทั่งลำตัวตั้งตรง แล้วค่อยๆ เอนตัวและศีรษะไปด้านหลัง โดยที่แขนเหยียดตรงและตามองกระบองตลอดเวลา เมื่อเงยจนสุดแล้ว ทิ้งตัวค้างไว้นับ 1 – 10 แล้วค่อยๆ วาดกระบองกลับมายืนตรง จากนั้นวาดกระบองลงมาด้านหน้า
- ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 3 – ข้อ 6 อีก 3 – 5 ครั้ง
ถ้ำผาปล่อง
เดิมคือท่าถ้ำผาปล่อง ขณะฝึกต้องให้เข่าและศอกเหยียดตรงตลอด ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสะบัก (Scapula) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกส่วนไหล่ (Shoulder Girdle) เชื่อมต่อกับกระดูกไหปลาร้าและกระดูกต้นแขน ช่วยบรรเทาอาการไหล่ติดได้
- ยืนตัวตรง กางขาเท่าความกว้างของไหล่หรือมากกว่าเล็กน้อยโดยประมาณ
- หงายมือกำกระบองไว้ด้านหลัง โดยให้ระยะห่างของมือกว้างกว่าระยะห่างของขาที่ยืนเล็กน้อย แขนเหยียดตรง
- ค่อยๆ ก้มตัวลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่งอเข่า จากนั้นมองลอดหว่างขา ก่อนเชิดหน้าขึ้น
- เงยหน้าขึ้นจนสุดแล้วค้างไว้ วาดกระบองขึ้นเหนือศีรษะ แขนเหยียดตรง พยายามบังคับให้คางขนานกับพื้น จนรู้สึกตึงที่บริเวณท้องคางแล้วค้างไว้ วาดกระบองลงมาอยู่ระหว่างก้นกับต้นขา โดยที่แขนยังเหยียดตรง
- ยกกระบองขึ้น – ลง 10 ครั้ง (ขณะที่ยังก้มตัวและเงยคางอยู่) จากนั้นกลับมายืนตัวตรงในท่าหงายมือกำกระบองไว้ด้านหลัง
- ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 3 – ข้อ 5 อีก 3 – 5 ครั้ง
ท่า 180 องศา
เดิมคือท่า 180 องศา ขณะฝึก เข่าและศอกต้องเหยียดตรง เท้าไม่ยก และแขนแนบกระบองตลอด
ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังทั้งหมด ตั้งแต่กระดูกคอ กระดูกสันหลังส่วนบน และกระดูกสันหลังส่วนล่าง บรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมที่มีการปวดเกร็งตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ และหลังได้ดี
- ยืนตัวตรง กางขาเพียงเล็กน้อย พาดกระบองไว้บนบ่าทั้งสองข้าง กางแขนเหยียดตรงแนบกับกระบองไว้ตลอดเวลา
- บิดตัววาดปลายกระบองจากซ้ายไปขวา โดยพยายามให้มุมของการบิดตัวจากซ้ายไปขวาได้ 180 องศา ในระหว่างการบิดตัวให้ตามองดูปลายกระบองซ้าย (ห้ามเลื่อนมือ) ไม่บิดเท้าตาม ไม่งอเข่าจากนั้นบิดตัววาดปลายกระบองซ้ายกลับไปทางซ้าย
- บิดตัววาดปลายกระบองขวาไปทางซ้าย พยายามให้มุมของการบิดตัวจากขวาไปซ้ายได้ 180 องศาในระหว่างการบิดตัวให้ตามองดูปลายกระบองขวา (ห้ามเลื่อนมือ) ไม่บิดเท้าตาม ไม่งอเข่า จากนั้นบิดตัววาดปลายกระบองขวากลับไปทางขวา
- บิดตัววาดปลายกระบองสลับซ้ายและขวา (ตามที่อธิบายในข้อ 2 และข้อ 3) อย่างต่อเนื่องกันให้ครบ 30 – 50 ครั้ง กลับสู่ท่ายืนตรง
ท่าแหงนดูดาว
เดิมคือท่าแหงนดูดาว ขณะฝึกเข่าต้องเหยียดตรงและแขนแนบกระบองตลอดท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสีข้างลำตัว บรรเทาอาการปวดเมื่อยจากโรคออฟฟิศ-ซินโดรมและช่วยกระชับสัดส่วน ลำตัวจะดูเพรียวบางลง
- ยืนตัวตรง กางขาเพียงเล็กน้อย พาดกระบองไว้บนบ่าทั้งสองข้าง กางแขนเหยียดตรงแนบกับกระบอง
- วาดปลายกระบองซ้ายลงไปด้านข้างลำตัวด้านซ้าย พยายามให้ปลายกระบองแตะข้างขา โดยให้ลำตัวตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้ามเลื่อนมือหันหน้าไปทางขวา ตามองปลายกระบองขวาที่ชี้ขึ้นฟ้า จากนั้นวาดปลายกระบองขวาที่ชี้ขึ้นฟ้าลงมา
- วาดปลายกระบองขวาลงไปด้านข้างลำตัวด้านขวา พยายามให้ปลายกระบองแตะข้างขา โดยลำตัวตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้ามเลื่อนมือหันหน้าไปทางซ้าย ตามองปลายกระบองซ้ายที่ชี้ขึ้นฟ้า จากนั้นวาดปลายกระบองซ้ายที่ชี้ขึ้นฟ้าลงมา
- วาดปลายกระบองซ้ายและขวาสลับขึ้น – ลง (ตามที่อธิบายในข้อ 2 และข้อ 3) อย่างต่อเนื่องกันให้ครบ 30 – 50 ครั้ง กลับสู่ท่ายืนตร
ท่าสีลม
เดิมคือท่าสีลม ขณะฝึกต้องให้เข่าเหยียดตรงและแขนแนบกระบองตลอด ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกหัวไหล่ (Shoulder Girdle) ซึ่งประกอบด้วยกระดูกแขนท่อนบน (Humerus) กระดูกสะบัก (Scapula) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) ทำให้เคลื่อนไหวและยกชูแขนสะดวก แก้อาการไหล่ติด
- ยืนกางขาประมาณ 1 ½ ถึง 2 เท่าของช่วงความกว้างของไหล่พาดกระบองไว้บนบ่าทั้งสองข้าง กางแขนเหยียดตรงแนบกับกระบอง
- ก้มตัวไปด้านหน้าให้ลำตัวท่อนบนขนานกับพื้น โดยบังคับให้แขนต้องเหยียดตรงแนบกับกระบองและไม่งอเข่า
- วาดปลายกระบองทางด้านซ้ายไปทางขวา พยายามให้ปลายกระบองซ้ายแตะหัวนิ้วโป้งเท้าขวา (โดยบังคับให้ศีรษะและลำตัวซึ่งเป็นแกนในการวาดกระบองอยู่นิ่งๆ) ตามองพื้น ห้ามเลื่อนมือ จากนั้นวาดปลายกระบองซ้ายกลับไปทางซ้าย
- วาดปลายกระบองทางด้านขวาไปทางซ้าย พยายามให้ปลายกระบองขวาแตะนิ้วโป้งเท้าซ้าย (โดยบังคับให้ศีรษะและลำตัวซึ่งเป็นแกนในการวาดกระบองอยู่นิ่งๆ) ตามองพื้น ห้ามเลื่อนมือ จากนั้นวาดปลายกระบองขวากลับไปทางขวา
- วาดปลายกระบองซ้ายและขวาสลับไปมา (ตามที่อธิบายในข้อ 3 และ 4) อย่างต่อเนื่องเหมือนกังหันลมจนครบ 30 – 50 ครั้ง ยกลำตัวขึ้น กลับสู่ท่ายืนตรง
ท่า 360 องศา
เดิมคือท่า 360 องศา ขณะฝึกเข่าและศอกต้องเหยียดตรงตลอด ท่านี้ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อลำตัวช่วงบน ตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ ไปจนถึงบั้นเอว ช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสีข้างทั้งสองข้าง ช่วยกระชับสัดส่วนได้ดีเช่นกัน
- ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย คว่ำมือกำกระบองไว้ด้านหน้า โดยระยะห่างของมือควรเท่ากับระยะห่างของขาที่ยืน แขนเหยียดตรง
- วาดกระบองขึ้นมาระดับหน้าอกโดยไม่งอศอก ตามองกระบองอย่างมีสมาธิ
- วาดกระบองลงด้านหน้า โดยก้มตัวลงให้มากที่สุด ไม่งอเข่าและแขนตลอดเวลา
- พยายามยืดตัวตรงเพื่อให้กระบองแตะพื้นโดยไม่งอเข่าและแขน ขย่ม 5 ครั้ง
- วาดกระบองเรี่ยพื้นไปทางขวาพร้อมกับเอียงกระบองไปทางขวาจนสุด จนกระบองเป็นแนวเส้นตรงกับลำตัว จากนั้นค่อยๆ วาดกระบองขึ้นทางด้านข้างขวา โดยใช้เอวเป็นแกนในการหมุน พร้อมๆ กับเอนตัวหงายไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยๆ วาดกระบองลงทางด้านซ้าย (พร้อมๆ กับเอนตัวหงายกลับมาทางด้านซ้าย) จนกระบองเป็นแนวเส้นตรงกับลำตัว พยายามกดกระบองลงมาหาพื้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงวาดกระบองเรี่ยพื้นพร้อมกับเอนตัวจากซ้ายมาด้านหน้าพยายามยืดตัวลงให้กระบองแตะพื้น ขย่ม 5 ครั้ง
- วาดกระบองเรี่ยพื้นไปทางซ้ายพร้อมกับเอนตัวไปทางด้านซ้ายจนสุด จนกระบองเป็นแนวเส้นตรงกับลำตัว จากนั้นค่อยๆ วาดกระบองขึ้นทางด้านซ้าย โดยใช้เอวเป็นแกนในการหมุน พร้อมๆ กับเอนตัวหงายไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยๆ วาดกระบองลงทางด้านขวา (พร้อมๆ กับเอนตัวหงายกลับมาทางด้านขวา) จนกระบองเป็นแนวเส้นตรงกับลำตัว พยายามกดกระบองลงพื้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงวาดกระบองเรี่ยพื้นพร้อมกับเอนตัวจากด้านขวามาด้านหน้า ก้มตัวลงให้กระบองแตะพื้น ขย่ม 5 ครั้ง
- ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 5 – 6 อีก 3 ครั้ง
- ยกลำตัวขึ้นกลับสู่ท่ายืนตรง
ท่าเตะตรงเท้าเหยียด
เดิมคือท่าเตะตรงเท้าเหยียด ขณะฝึกต้องเตะขาและออกแรงให้ได้ความสูงเท่ากับระดับของกระบอง ช่วยบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและช่วยฝึกการทรงตัว
กลุ่มท่าเตะ ผู้ฝึกต้องมีความแข็งแรงพอสมควร ถ้ามีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในช่วงพักฟื้น ควรงดหรือปรึกษาแพทย์ก่อนฝึก
- ยืนให้ขาขวา (หรือขาที่จะเตะ) อยู่ทางด้านหลัง
- คว่ำมือกำกระบอง แขนเหยียดตรง ยกกระบองขึ้นไปอยู่ในระดับที่สามารถเตะถึง (ขณะเตะพยายามรักษาระดับความสูงของกระบองไว้ให้คงที่ตลอดเวลา ไม่ลดกระบองลงมาหาเท้า)
- ขย่มตัว (เพื่อส่งแรงเตะ) เตะขาขวาขึ้นตรงๆ ให้สูงถึงระดับความสูงของกระบองที่ยกไว้ ขณะเตะให้ขาขวาเหยียดตรงไม่งอเข่า ปลายเท้าขวาเหยียดตรง ไม่สะบัดปลายเท้า แขนเหยียดตรง เมื่อเตะเสร็จแล้ว วางขาขวาลงด้านหน้า สลับขาซ้ายให้มาอยู่ด้านหลังเพื่อเตรียมเตะครั้งต่อไป
- ขย่มตัว (เพื่อส่งแรงเตะ) เตะขาซ้ายขึ้นตรงๆ ให้สูงถึงระดับความสูงของกระบองที่ยกไว้ ขณะเตะให้ขาซ้ายเหยียดตรงไม่งอเข่า ปลายเท้าซ้ายเหยียดตรง ไม่สะบัดปลายเท้า แขนเหยียดตรง เมื่อเตะเสร็จแล้ว วางขาซ้ายลงด้านหน้า สลับขาขวาให้มาอยู่ด้านหลังเพื่อเตรียมเตะครั้งต่อไป
- เตะขาสลับซ้ายและขวา (ตามที่อธิบายในข้อ 3 และ 4) ต่อเนื่องจนครบ 30 – 50 ครั้ง
ท่าเตะตรงเท้าฉาก
เดิมคือท่าเตะตรงเท้าฉาก ขณะฝึกให้เตะไปข้างหน้า โดยตั้งฝ่าเท้าขึ้นเป็นมุมฉาก ทำให้รู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน มีประโยชน์ต่อการฝึกทักษะการทรงตัว
ปฏิบัติเหมือนท่าเตะตรงเท้าเหยียดทุกอย่าง เพียงแต่ขณะที่เตะให้ปลายเท้าตั้งฉาก โดยเตะสลับซ้ายและขวาอย่างต่อเนื่องกันให้ครบ 30 – 50 ครั้ง
ท่าเตะนอกเข้าในเท้าเหยียด
เดิมคือท่าเตะนอกเข้าในเท้าเหยียด ขณะฝึกให้วาดขาเป็นวงกลมให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้และเหยียดฝ่าเท้าให้ตรงตลอดการฝึก ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านในและข้อเท้า ช่วยให้มีทักษะการทรงตัวดีขึ้น
- ยืนให้ขาขวา (หรือขาที่จะเตะ) อยู่ทางด้านหลัง
- คว่ำมือกำกระบอง โดยที่แขนเหยียดตรง ยกกระบองขึ้นไประดับสูงสุดเท่าที่จะสามารถเตะได้ถึง (ขณะเตะให้รักษาระดับความสูงของกระบองไว้ให้คงที่ ไม่ลดกระบองลงมาหาเท้า)
- ขย่มตัว (เพื่อส่งแรงเตะ) เตะขาขวาขึ้นมาทางด้านขวาจนสุด ให้สูงถึงระดับความสูงของกระบองที่ยกไว้ พร้อมๆ กับวาดขาไปทางปลายกระบองซ้ายจนสุด ขณะเตะไม่งอเข่า ปลายเท้าเหยียดตรงตลอดเวลา ไม่สะบัดปลายเท้า แขนเหยียดตรง เมื่อเตะเสร็จแล้ว ให้วางเท้าขวาลงด้านหน้า สลับขาซ้ายไปไว้ด้านหลังเพื่อเตรียมเตะครั้งต่อไป
- ขย่มตัว (เพื่อส่งแรงเตะ) เตะขาซ้ายขึ้นมาทางด้านซ้ายจนสุด ให้สูงถึงระดับความสูงของกระบองที่ยกไว้ พร้อมๆ กับวาดขาไปทางปลายกระบองขวาจนสุด ขณะเตะไม่งอเข่า ปลายเท้าเหยียดตรงตลอดเวลา ไม่สะบัดปลายเท้า แขนเหยียดตรง เมื่อเตะเสร็จแล้ว ให้วางเท้าซ้ายลงด้านหน้า สลับขาขวาไปไว้ด้านหลังเพื่อเตรียมเตะครั้งต่อไป
- เตะสลับซ้ายและขวา (ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 3 และ 4) ต่อเนื่องกันให้ครบ 30 – 50 ครั้ง
ท่าเตะในออกนอกเท้าฉาก
เดิมคือท่าเตะในออกนอกเท้าฉาก ขณะฝึกให้วาดขาเป็นวงกลมให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ และตั้งฝ่าเท้าขึ้นเป็นมุมฉากตลอดการฝึก ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกและข้อเท้า ฝึกทักษะการทรงตัวให้ดีขึ้น
- ยืนให้ขาขวา (หรือขาที่จะเตะ) อยู่ทางด้านหลัง
- คว่ำมือกำกระบอง โดยที่แขนเหยียดตรง ยกกระบองขึ้นไประดับสูงสุดเท่าที่จะสามารถเตะได้ถึง (ขณะเตะให้รักษาระดับความสูงของกระบองไว้ให้คงที่ ไม่ลดกระบองลงมาหาเท้า)
- ขย่มตัว (เพื่อส่งแรงเตะ) เตะขาขวาขึ้นมาตรง ๆ ให้สูงถึงระดับกระบองที่ยกไว้ พร้อมๆ กับวาดขาไปทางปลายกระบองขวาจนสุด ขณะเตะขาต้องเหยียดตรง เข่าไม่งอ ปลายเท้าตั้งฉากตลอดเวลา ไม่สะบัดปลายเท้า แขนเหยียดตรง เมื่อเตะเสร็จแล้ววางเท้าขวาลงด้านหน้า สลับขาซ้ายมาอยู่ด้านหลังเพื่อเตรียมเตะครั้งต่อไป
- ขย่มตัว (เพื่อส่งแรงเตะ) เตะขาซ้ายขึ้นมาตรงๆ ให้สูงถึงระดับกระบองที่ยกไว้ พร้อมๆ กับวาดขาไปทางปลายกระบองซ้ายจนสุด ขณะเตะขาต้องเหยียดตรง เข่าไม่งอ ปลายเท้าตั้งฉากตลอดเวลา ไม่สะบัดปลายเท้า แขนเหยียดตรง เมื่อเตะเสร็จแล้ววางเท้าซ้ายลงด้านหน้า สลับขาขวามาอยู่ด้านหลังเพื่อเตรียมเตะครั้งต่อไป
- เตะสลับขาซ้ายและขวา (ตามที่อธิบายในข้อ 3 และ 4) ต่อเนื่องกันให้ครบ 30 – 50 ครั้ง
ท่าแถม
เดิมคือท่าแถม ขณะฝึกต้องยืนและนั่งโดยพยายามทรงตัวบนปลายเท้า ทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพื่อช่วยในการทรงตัว ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ท้องน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของอวัยวะสืบพันธุ์และกระเพาะปัสสาวะ ลดอาการปวดประจำเดือนในเพศหญิงและช่วยให้ต่อมลูกหมากแข็งแรงในเพศชาย
- ยืนตัวตรง กางขาออกเล็กน้อย
- นำกระบองไปไว้ด้านหลังลำตัวบริเวณบั้นเอว โดยใช้วงแขนสองข้างคล้องกระบองเอาไว้ ฝ่ามือประสานกันไว้ด้านหน้า หรือวางแนบไว้กับหน้าท้องก็ได้
- เขย่งส้นเท้าขึ้นให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้
- ลดตัวลงนั่ง โดยยังคงเขย่งส้นเท้าอยู่ ตามองตรง ไม่ก้มหน้า ไหล่ผึ่งผาย ลำตัวตั้งตรง แล้วขย่มตัวให้ก้นแตะส้นเท้า 3 ครั้ง จากนั้นยืนขึ้นโดยยังเขย่งส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา
- เมื่อลำตัวตั้งตรงแล้ว ลดส้นเท้าลงสู่พื้น นับเป็น 1 ครั้ง
- ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 3 – 5 ให้ครบ 30 – 50 ครั้ง
ข้อมูลจากนิตยสารชีวจิต ฉบับ 458
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ออกกำลังกายแก้ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยรำกระบอง ท่าแหงนดูดาว
รำกระบองช่วยรักษาโรคและอาการไหล่ติดได้
วิ่งลดน้ำหนัก ใน 12 สัปดาห์ ทำตามแล้วจะรู้ว่า ผอม!
การวิ่ง ไม่ทำให้เข่าเสื่อม!! พร้อมเทคนิควิ่งเสริมข้อแข็งแรง
แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ
ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา
ติดตามชีวจิตได้ที่